บีกรีน โปรดักส์ เปลี่ยนฟางข้าวเป็น ‘Tableware เยื่อธรรมชาติ’ สินค้ารักษ์โลก แถมสร้างรายได้ให้ชาวนา

พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบันนิยมใช้ภาชนะสำหรับอาหาร (Tableware) ประเภท กล่องข้าว จานแบบสำเร็จรูป ภาชนะใส่น้ำดื่ม และหลอดพลาสติก สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มักผลิตจากโฟม พลาสติก หรือวัสดุที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก่อเกิดขยะที่ย่อยสลายได้ยากจำนวนมหาศาล สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาชนะสำหรับอาหารที่ผลิตจากธรรมชาติ กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกมาทดแทนโฟมและพลาสติก แต่ข้อจำกัดคือต้นทุนการผลิตที่อาจจะสูงกว่า
อีกทั้งภาชนะใส่อาหารที่ผลิตจากธรรมชาติ อาจมีการแปรสภาพก่อนที่จะนำไปใช้งาน ซึ่ง Pain Point เหล่านี้นำไปสู่การพัฒนา Tableware เยื่อธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์สำหรับอาหารที่ใส่ใจต่อโลกและยังสร้างรายได้ให้ชาวนาอีกด้วย
จุดประกาย ‘Tableware เยื่อธรรมชาติ’
บริษัทบีกรีน โปรดักส์ จำกัด เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่คนรุ่นพ่อก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับอนาคตของลูก ๆ เริ่มจาก คุณสุพจน์ มธุรพงศ์ธร ผู้ประกอบการธุรกิจด้าน โรงงานผลิตชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก มากว่า 30 ปี ในนาม บริษัทเอส.ดับบลิว.เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นธุรกิจที่เติบโตและสร้างรายได้ดี ต่อมาเกิดแนวคิดอยากต่อยอดธุรกิจโดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่แล้วทำธุรกิจที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก จึงก่อตั้งโรงงานผลิตภาชนะสำหรับอาหารที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ คือ บริษัท บีกรีน โปรดักส์ จำกัด
สำหรับแนวคิดธุรกิจการทำธุรกิจใหม่นี้ เริ่มต้นจากตนมีบุตรสาว 2 คน ซึ่งเรียนจบด้านวิศวกรรมจากต่างประเทศ จึงมองหาธุรกิจเพิ่มเติมให้ลูกทั้งสองคนได้มีพื้นที่ทำงาน และสานต่อธุรกิจที่เป็นเทรนด์สมัยใหม่อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม จากนั้นได้ศึกษาหาข้อมูลว่าบริษัทมีความสามารถในการผลิตได้หรือไม่  เพราะส่วนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งพบว่ากระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ภาชนะสำหรับอาหารที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ คล้ายคลึงกับโรงงานเอส.ดับบลิว.เอ็นจิเนียริ่ง ที่ทำอยู่แล้ว คือการใช้เทคนิคขึ้นรูปวัสดุจากแม่พิมพ์ ให้เป็นไปตามแบบที่ลูกค้าต้องการ
ความต่างคือจากการขึ้นรูปโลหะและพลาสติก เปลี่ยนมาเป็นการขึ้นรูปจากวัสดุที่เป็น ‘น้ำเยื่อจากพืช’ ซึ่งมีหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ได้ นอกจากนี้ หัวใจสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือแม่พิมพ์ จึงตัดสินใจว่า ส่วนของโรงงานและกระบวนการผลิตตนจะเป็นฝ่ายดูแลให้ก่อน ส่วนการบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด และกลยุทธ์ จะให้บุตรสาวทั้งสองเป็นผู้ดูแล ตลอดจนให้ลูกเรียนรู้กระบวนการผลิตในโรงงาน เพื่อจัดการส่วนนี้ด้วยตนเองในอนาคต
คุณสุพจน์ เปิดเผยว่า ย้อนไปก่อนหน้านี้ ได้ลองสั่งสินค้าตัวอย่างจากโรงงานผู้ผลิตเครื่องจักรในประเทศจีน ซึ่งเป็นภาชนะใส่อาหารจากชานอ้อยนำมาทำการตลาดออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ ‘Leev’ เน้นจำหน่ายในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมต่าง ๆ ที่ผ่านมากระแสตอบรับของลูกค้าถือว่าดีในระดับหนึ่ง แต่ช่วงที่เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ลองเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบหลักคือ  ‘ฟางข้าว’ ที่ราคาถูกกว่า หลังจากที่ส่งตัวอย่างไปทดลองพบว่าสามารถผลิตตามแบบที่กำหนดได้ โรงงานจึงเริ่มเดินเครื่องผลิตตัวอย่างสินค้า ผลออกมาดีตามที่คาดไว้ เริ่มมีผลิตภัณฑ์จากฟางข้าวออกสู่ตลาดแล้ว
 
‘ฟางข้าว’ วัสดุทางเลือกที่ใส่ใจโลก
คุณสุพจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาชนะสำหรับอาหาร หรือ Tableware ที่เราผลิตเอง จะเน้นวัตถุดิบจากฟางข้าว โดยมีทั้ง กล่องข้าว จานในรูปแบบและขนาดต่าง ๆ ซึ่งจะมีการแนะนำลูกค้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์ ‘Leev’ เปลี่ยนวัตถุดิบหลักจากเดิมใช้ชานอ้อยมาเป็นฟางข้าว แม้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์จากชานอ้อย แต่คุณสมบัติไม่แตกต่างกัน  เช่น สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ แช่ในช่องแช่แข็งได้ กันน้ำ และน้ำมันไม่ซึม ซึ่งฟางข้าวสามารถนำมาเป็นวัสดุทดแทนชานอ้อยได้เป็นอย่างดี และเป็นอีกหนึ่งภาชนะทางเลือกสำหรับทดแทนโฟมและพลาสติก ข้อดีคือมีคุณภาพสูง ย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ฟางข้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตของโรงงาน บีกรีน โปรดักส์ ตั้งอยู่ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทำนาและปลูกข้าวจำนวนมาก ดังนั้น จึงจัดการเรื่องต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งได้ไม่ยากโดยหลังจากที่ได้วัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตคือ ‘ก้อนฟางข้าว’ ที่รับซื้อจากผู้รวบรวมจากชาวนาในพื้นที่ใกล้เคียงนำมาเข้าสู่กระบวนการตัด แยก และทำความสะอาด เพื่อให้วัตถุดิบปราศจากสิ่งเจือปนให้เหลือพียงเนื้อฟางล้วน ๆ ก่อนนำไปต้มให้เปื่อยยุ่ยและนำไปล้างให้สะอาดอีกหลาย ๆ ครั้ง จนได้เนื้อเยื่อฟาง
คุณสุพจน์ บอกว่า เคล็ดลับส่วนนี้ คือ ยิ่งล้างมากเท่าไหร่ สีสันจะเริ่มจางจนเป็นสีขาวมากขึ้น เมื่อคัดแยกเนื้อเยื่อฟางที่ยังไม่ยุ่ยออกแล้วเติมสารบางชนิดที่ใช้สำหรับอาหาร (Food Grade) ที่มีคุณสมบัติทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถกันน้ำ กันน้ำมันซึมได้ ไม่เปื่อยยุ่ย และทนความร้อน-ความเย็น ได้ในระดับหนึ่ง ก่อนรีดออกมาเป็นแผ่นแล้วนำมาอบด้วยความร้อนให้แห้ง และขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์เป็นภาชนะในรูปแบบต่าง ๆ
ดังนั้น ภาชนะอาหารจากฟาง จึงมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์การใช้งานที่สามารถทดแทนกล่องข้าวที่ผลิตจากโฟมหรือพลาสติกได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิปกติอย่างคงทน โดยไม่เกิดการย่อยสลาย หรือแปรสภาพก่อนที่จะนำไปใช้งาน
แต่หลังจากการใช้งาน สิ่งที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวย่อยสลายได้ คือ ความร้อน ความเย็น ความชื้น และแสงแดด ในกระบวนการย่อยสลาย ไม่ว่าจะทิ้งลงพื้นดิน ลงถังขยะ หรือในแม่น้ำ บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวก็สามารถแปรสภาพเป็นของเหลวตามสภาพแวดล้อม หรือตามธรรมชาติได้ภายใน 2 สัปดาห์ และจะย่อยสลายไปจนหมดสิ้นภายใน 45 วัน โดยบริษัทมีการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ Intertek ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการทดสอบ การตรวจสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับอาหาร ผลปรากฏว่าปราศจากสารปนเปื้อน จึงมั่นใจได้ว่าบรรจุภัณฑ์ สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างแน่นอน
 
นวัตกรรมที่ดีต่อโลก เพิ่มรายได้ชาวนา
คุณสุพจน์ กล่าวว่า กระบวนการจัดการรวบรวบวัตถุดิบฟางข้าว จะเป็นลักษณะการนำรถอัดก้อนฟางไปรับเหมาซื้อฟางจากแปลงนาแปลงใหญ่ในช่วงเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่ายให้แก่ปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบันโรงงานรับซื้อฟางมาจากแหล่งนี้ อย่างไรก็ตาม ข้าวแต่สายพันธุ์จะให้เส้นใยที่แตกต่างกัน เหตุนี้ในกระบวนการผลิตจึงมีการวัดค่าความหนาแน่นของเนื้อเยื่อฟาง เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่เหมาะสม
เป็นกระบวนการด้านนวัตกรรมการผลิต (Process Innovation) ที่มีการทำวิจัยภายในห้องแล็บ ผ่านการทดลองตัวอย่างวัสดุหลายชนิด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ภาชนะอาหารที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ และยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาที่ขายฟางให้กับโรงงานได้อีกทางหนึ่งด้วย
ที่สำคัญ ยังช่วยลดการเผาฟางข้าวในกรณีที่บางช่วงปริมาณฟางข้าวล้นตลาด ไม่มีรถอัดก้อนมารับซื้อที่แปลงนา ทำให้ชาวนาที่ต้องการปลูกข้าวรอบใหม่ต้องเผาตอซังข้าว ส่งผลต่อปัญหาควันไฟและมลพิษทางอากาศ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการนำฟางข้าวที่มีอยู่มากมายในพื้นที่มาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า
ซึ่งในอนาคตมองว่า หากมีโรงงานรับซื้อฟางก้อน ชาวนาสามารถจ้างรถอัดก้อนแล้วส่งฟางมาขายให้แก่โรงงานโดยตรง ย่อมได้ราคาที่สูงกว่าการขายแบบเหมาซื้อฟางทั้งแปลงแบบเดิม แหล่งรวบรวบวัตถุดิบจากต้นน้ำ จึงเป็นหัวใจสำคัญอีกด้านของการพัฒนาสินค้าและธุรกิจนี้
 
มองหาแหล่งซัพพลายวัตถุดิบทางเลือก
คุณสมบัติของวัตถุดิบประเภทพืช ที่นำมาทำเป็นภาชนะสำหรับอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องมี ‘เส้นใย’ ดังนั้น พืชชนิดใดที่มีเส้นใยก็สามารถนำมาขึ้นรูปโดยแม่พิมพ์ได้ ตัวอย่างเช่น อ้อย ผักไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส ฟางข้าว ผักตบชวา เพียงแต่ในปัจจุบัน ซัพพลายเชนที่ทำหน้าที่รวบรวบวัตถุดิบให้โรงงานเพื่อนำไปผลิตเป็นภาชนะยังมีไม่มาก หรือบางชนิดยังไม่มีกระบวนการรวบรวม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดภาชนะสำหรับอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่
คุณสุพจน์ วิเคราะห์ว่า ตลาดภาชนะสำหรับอาหารที่ผลิตจากธรรมชาติ ปัจจุบันมีดีมานด์เยอะพอสมควร แต่ในด้านซัพพลายยังขาดกลไกในการเก็บรวบรวมวัตถุดิบเพื่อจำหน่ายให้กับโรงงานโดยตรง แต่เชื่อว่าในอนาคต ด้วยเมกะเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จะนำไปสู่ กฎ กติกาการค้าโลกในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจต้องหันมาพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
 
สร้างความแตกต่างด้วย ‘ฟางข้าว’
คุณสุพจน์ สะท้อนภาพว่า ปัจจุบัน โรงงานที่สามารถผลิตภาชนะสำหรับอาหารจากเยื่อธรรมชาติ 100 % ในประเทศไทย มีไม่เกิน 10 แห่ง และส่วนมากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจมานับสิบปี แต่ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากชานอ้อย ดังนั้น สำหรับแบรนด์ ‘Leev’ ถือเป็นแบรนด์หน้าใหม่ แต่บริษัทพยายามสร้างความแตกต่างในการเข้าตลาด โดยการนำฟางข้าวมาเป็นวัตถุดิบทางเลือกในการพัฒนาสินค้า เน้นจุดแข็งที่คุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
สำหรับภาชนะสำหรับอาหารที่ผลิตจากฟางข้าวจะมีสีน้ำตาลอ่อน โดยแบรนด์ ‘Leev’ เน้นความเป็นธรรมชาติทั้งวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและสีสันของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นสีฟางข้าวเดิม ไม่มีกระบวนการฟอก และปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายสุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกใช้งานที่เหมาะสม
 
ตลาดจะเป็นไปในทิศทางใด?
คุณสุพจน์ มองว่า ตลาดภาชนะสำหรับอาหารจากเยื่อธรรมชาติจะค่อย ๆ เติบโต สำหรับกลยุทธ์ด้านการตลาดของแบรนด์ ‘Leev’ จะเน้นเปิดตัวในงานแสดงสินค้าและนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุด มีลูกค้าจาก เวียดนาม และอินเดีย มีการเจรจาติดต่อและส่งตัวอย่างไปทดสอบ เชื่อว่าจะนำไปสู่การสั่งซื้อสินค้าต่อไปในอนาคต
รวมถึงยังคงทำตลาดในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซผ่านช่องทางต่าง ๆ พร้อมทั้งนำข้อมูลด้านความต้องการของลูกค้ามาปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว ให้สามารถตอบโจทย์การนำไปใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจ อีกทั้งจะเน้นโฟกัสไปที่ตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่มร้านค้า ร้านอาหารที่มีแนวคิดเรื่องรักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อกระจายสู่ช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายยิ่งขึ้น
 
คุณสุพจน์ กล่าวว่า การจัดการ รวบรวมวัตถุดิบ และการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ จะเป็นประเด็นสำคัญของการซัพพลายวัตถุดิบให้แก่โรงงานได้ ขณะที่โครงสร้างปัจจุบันยังขาดห่วงโซ่ข้อนี้ ดังนั้น การจะผลักดันวัสดุที่อาจเป็นวัชพืช เช่น ผักตบชวาที่มีอยู่มากมาย นำมาทำประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่า ต้องมีซัพพลายเชนที่สามารถจัดการและรวบรวมวัตถุดิบได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ต้นทุนที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ จะเป็นการยกระดับทั้งอุตสาหกรรมภาชนะอาหารจากเยื่อธรรมชาติต่อไปในอนาคต
นอกจากที่กล่าวมา  ธุรกิจสามารถแตกไลน์ไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ประกอบกับขณะนี้ เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคหันมาตระหนักเรื่องบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจต้องปรับตัว ทำให้ตลาดภาชนะอาหารจากเยื่อธรรมชาติเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และท้ายที่สุด การนำซากพืชที่เป็นของเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ ยังช่วยลดการเผาฟางในไร่นาภาคการเกษตร ลดปัญหาด้านมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย ถือเป็นการดำเนินธุรกิจที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันอย่างยั่งยืน
 
อ้างอิง
https://www.bangkokbanksme.com